เราจะเห็นได้ว่าการทำงานร่วมกันระหว่าง Inbound Marketing กับการทำ PR นั้นทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ข้อแตกต่างของ Inbound Marketing กับการทำ PR คืออะไร แล้วเราสามารถนำทั้งสองกลยุทธ์มาทำงานส่งเสริมกันได้อย่างไรบ้างนั้น ก่อนอื่นเลย…เราจะต้องรู้ถึงความแตกต่างระหว่างการทำ PR กับการทำ Inbound Marketing ให้ได้กันเสียก่อน

การทำ PR คืออะไร

การที่เราสามารถบอกได้ถึงข้อแตกต่างระหว่างการทำ PR กับการทำ Inbound Marketing จะทำให้เราสามารถอธิบายได้ว่าแต่ละกลยุทธ์มีลักษณะวิธีการใช้งาน และให้ประโยชน์กับเราอย่างไรบ้างได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การทำ PR (ย่อมาจาก Public Relations) หรือการประชาสัมพันธ์ เป็นการทำให้ผู้คนรู้ถึงวิธีการนำเสนอภาพลักษณ์ของบริษัท รวมถึงยังทำหน้าที่ในการสื่อสารกับสาธารณชนและสื่อต่าง ๆ อีกด้วย การทำ PR โดยทั่วไปแล้วจะมีจุดประสงค์เพื่อการนำเสนอภาพลักษณ์ของบริษัทไปในทางที่ดี ดูมีความเชี่ยวชาญและสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้น

โดยปกติแล้ว เครื่องมือที่ใช้ในการทำ PR จะมี การทำ Press Release (ข่าวประชาสัมพันธ์), Newsletter (จดหมายข่าว), การมีเนื้อหาในสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ หรือการให้การสนับสนุนสื่อรูปแบบอื่น แต่ในยุคที่ Digital เข้ามามีผลกับการตลาดเป็นอย่างมาก นอกจากวิธีการทำ PR แบบดั้งเดิมข้างต้นแล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยอีกช่องทางของสื่อ นั่นก็คือ เว็บไซต์ หรือการสื่อสารทางออนไลน์

Inbound Marketing คืออะไร

Inbound Marketing เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดกลยุทธ์หนึ่งที่มีหน้าที่ในการดึงดูด (มากกว่าที่จะเป็นการผลัก) กลุ่มเป้าหมายที่มี Persona (การสร้างลักษณะบุคลิกของกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าที่ต้องการ ซึ่งเกิดจากการใช้ข้อมูลการวิจัยทางการตลาดที่เก็บมา เป็นสิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่งในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดี เพราะจะทำให้เห็นภาพโดยรวมที่ชัดเจนมากขึ้นว่าควรจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าของแบรนด์และจะสื่อสารอย่างไรให้ถูกใจ) ที่ตรงกับจุดมุ่งหวังของแบรนด์ที่สุดให้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของแบรนด์นั้น ๆ ซึ่งมีการนำเสนอเนื้อหาที่มีประโยชน์และให้ความรู้กับผู้ซื้อตลอดในทุกขั้นตอนของการซื้อ และช่วยให้ผู้ซื้อยังคงรู้สึกถึงความอยากซื้อนั้นจนถึงขั้นตอนของการตัดสินใจซื้อและชำระเงินในที่สุด

Inbound Marketing จะมีชุดเครื่องมือที่คอยช่วยเหลือและดูแลลูกค้าตลอดการซื้อ เช่น การใช้เนื้อหาที่ Persona แต่ละคนสนใจ, การส่งอีเมลเพื่อรักษาลูกค้า หรือการจัดกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์เพื่อดึงดูดให้เกิดความผูกพันกับแบรนด์

ทำไมต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบการทำ Inbound Marketing

ในอดีตหรือประมาณทศวรรษก่อนหน้า โลกของการตลาดยังไม่มีสื่อ digital เข้ามามีบทบาทเท่ากับในปัจจุบัน ในตอนนั้นเรายังใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบ Outbound Marketing กันอยู่ ซึ่งใช้การโฆษณาแทรกหรือใช้การขายแบบขายตรง นั่นคือการเข้าไปหาลูกค้าแต่ละคนเป็นเทคนิคที่นิยมใช้กันมาก แต่เมื่อโลกได้มีการวิวัฒน์ด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ผู้บริโภคจึงมีความคาดหวังที่จะได้พบการนำเสนอสินค้าที่ถูกสร้างมาเพื่อตอบโจทย์ของแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ เมื่อการตลาดแบบเก่าไม่สามารถทำให้ลูกค้าสนใจได้มากเท่าที่ควร กลยุทธ์การตลาดแบบ Inbound Marketing จึงเข้ามามีผลและเติบโตในด้านความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ Outbound Marketing ก็ถูกลดความสำคัญลง

เราสามารถเปรียบเทียบลักษณะของ Outbound Marketing กับ Inbound Marketing ได้ดังนี้

  1. ในขณะที่ Outbound Marketing จะเน้นการโทรหา, ส่งจดหมาย, เป็นผู้สนับสนุนงานอีเวนต์ต่าง ๆ , ใช้สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุในการสื่อสารกับลูกค้า ส่วน Inbound Marketing นั้นจะใช้การจัดแคมเปญที่ศึกษามาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ Persona ให้ความสนใจ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เน้นใช้การโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของลูกค้ามากกว่าจะเป็นการโฆษณาแบบหว่านไปทั่วเพื่อเข้าหากลุ่มเป้าหมาย
  1. Outbound Marketing จะสนใจไปที่การปิดการขายมากกว่าที่จะสนใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ยึดติดกับ timescale ที่วางแผนมาแล้วมากเกินไป แต่ Inbound Marketing จะสนใจปัญหาและความต้องการของลูกค้ามากกว่า และจะใช้ timescale ในการแก้ปัญหาและดูแลลูกค้าไปพร้อมกันมากกว่า
  1. Outbound Marketing จะไม่มีการหากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการอย่างชัดเจน จึงยากที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจกับสินค้าของแบรนด์มากพอที่จะมาเป็นลูกค้า จึงใช้ต้นทุนทางการตลาดสูง แต่ได้ผลตอบแทนที่ต่ำ ส่วน Inbound Marketing มีการประยุกต์ใช้ในเรื่องของ data เพื่อหาสิ่งที่จะดึงดูดใจลูกค้าได้จริง ๆ และยังใช้ในการวางแผนการตลาดในภาพรวมอีกด้วย
  1. Outbound Marketing ติดตามได้ยากว่าแผนการตลาดสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ วัดผลยาก แต่ Inboud Marketing ใช้การทำ research ว่าคนทั่วไปมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยอย่างไร และมีการใช้สื่อ digital ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ออนไลน์ในสื่อจำพวก search engine, blog หรือ channel ต่าง ๆ
  1. จากวิธีการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าแบบ Outbound Marketing ที่ดูจู่โจมเกินไปทำให้อัตราการถูกปิดกั้นจากลูกค้ามีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่การทำการตลาดแบบ Inbound Marketing กลับทำให้ลูกค้าอยากติดตามแบรนด์มากขึ้น เพราะคิดว่าแบรนด์จะมีสิ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาความต้องการของพวกเขาได้ เพราะเนื้อหาที่เขาได้รับเป็นสิ่งที่เขาสนใจอยู่แล้ว

ในการทำ Inbound Marketing นั้น เราจะมุ่งเน้นไปที่

  • การดึงดูดคนให้มาเข้าชมเว็บไซต์ของแบรนด์ในจำนวนที่มากขึ้น (และมีคุณภาพมากขึ้นด้วย)
  • เปลี่ยนคนที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ให้กลายเป็น Lead (คนที่มีแนวโน้มว่าจะมาเป็นลูกค้าในอนาคต) หรือที่เรียกว่า MQL (Marketing Qualified Lead หรือ Lead ที่ได้ให้ความสนใจกับคอนเทนต์หรือแคมเปญทางการตลาด ) ในจำนวนที่มากขึ้น (และมีคุณภาพมากขึ้น)
  • ดูแล Lead โดยเปลี่ยนให้ MQL กลายเป็น SQL (Sales Qualified Lead หรือ Lead ที่ให้ความสนใจกับแบรนด์มากพอที่จะให้ฝ่ายขายสามารถทำให้เกิดการขายได้ง่ายมากขึ้น) ผ่านช่องทางการขาย
  • ปิดการขาย ซึ่งจะทำให้ SQL กลายเป็นลูกค้าของแบรนด์ จากนั้นก็ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ ดูแลและรักษาลูกค้ากลุ่มนี้ต่อไป ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีโอกาสที่จะกลับมาซื้อสินค้าของแบรนด์อีกเรื่อย ๆ

ในขณะที่การทำ Digital PR จะเน้นไปที่การมีลูกค้าเป้าหมายในการให้ภาพลักษณ์ที่ดีและโน้มน้าวให้เห็นด้านบวกของแบรนด์

“การทำ Digital PR นั้นจะใช้เนื้อหาที่สามารถวัดผลได้ ทำได้รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ สามารถแชร์หรือส่งต่อระหว่างกลุ่มลูกค้าได้ง่าย ถึงแม้ว่าขอบเขตของการทำ Digital PR อาจจะมีความเฉพาะเจาะจงที่มากกว่าแบบดั้งเดิม แต่การทำ Digital PR จะทำให้เกิดการเติบโตของแบรนด์ผ่านทางออนไลน์และเกิดแรงกระเพื่อมในโลก digital ที่กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน”

ดังนั้นเราจึงสามารถสรุปได้ว่า การทำ PR และการทำ Inbound Marketing นั้นมีเป้าหมายที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ เพื่อโน้มน้าว ดึงดูด และดูแลรักษากลุ่มลูกค้าเป้าหมายของแบรนด์นั่นเอง

การผสานขุมพลังกันของสองกลยุทธ์ที่เรียกว่าการทำ Inbound Marketing กับการทำ PR

เราไม่สามารถที่จะแบ่งแยกการทำ Inbound Marketing กับ Digital PR ออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ เพราะทั้งสองกลยุทธ์ต่างก็มีความสามารถในการส่งเสริมกันและกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น (และยังทำได้ดีอีกด้วย) การทำ Inbound Marketing ได้ประโยชน์อย่างมากจากการทำ PR ที่ได้ทำให้คนกลุ่มใหญ่ได้รู้จัก มีความเชื่อถือและความเชื่อมั่นในแบรนด์ ในทำนองเดียวกันนั้น การทำ PR ก็ได้รับผลประโยชน์จากการได้เข้าถึงเนื้อหาที่น่าสนใจ มีคุณภาพและมีความสามารถในการดึงดูดความสนใจของคนทั่วไปได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาในการทำ Inbound Marketing

การรวมตัวกันของสองกลยุทธ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิดความคิดในการทำ PR ยุคใหม่ขึ้นมา โดยถูกเรียกว่า Inbound PR ซึ่งถูกนำมานำเสนอโดยคุณ Iliyana Stareva ในงาน Hubspot’s INBOUND16 Conference

เราจะรวมการทำ PR และการทำ Inbound Marketing เข้าด้วยกันได้อย่างไร

ต่อไปนี้คือคำแนะนำในการหยิบยกองค์ประกอบของแต่ละกลยุทธ์ที่ควรเอามาทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันหรือที่เรียกว่า Inbound PR ได้ลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบ :

  1. เพิ่มประสิทธิภาพของการทำ Press Release เพื่อเพิ่มยอดผู้เข้าถึงในการค้นหาผ่านทางออนไลน์

ไม่ว่าจะเป็นการทำ PR และการทำ Inbound Marketing ต่างก็มีส่วนช่วยในการทำให้บริษัทหรือแม้แต่ตัวคุณถูกเข้าถึงได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้ว การทำ Inbound Marketing จะมีวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพของเนื้อหาเพื่อการค้นหาทางออนไลน์อยู่แล้ว แต่การเลือกคำคีย์เวิร์ดที่เหมาะสมมาใช้ในเนื้อหาของการประชาสัมพันธ์และ Press Release จะช่วยให้แบรนด์ถูกค้นหาและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นไปอีก

วิธีการที่ต้องทำก็คือ การหาข้อมูลว่าคีย์เวิร์ดคำไหนที่ถูกใช้งานบ่อยที่สุดภายในขอบเขตหัวข้อของเนื้อหาที่คุณจะทำการประชาสัมพันธ์ ( Google Keyword Planner ก็เป็นเครื่องมือการหาคีย์เวิร์ดที่ฟรีและใช้งานได้ดี ) จากนั้นใช้คีย์เวิร์ดที่หามาได้มาแทรกในหัวข้อ, ในบรรทัดแรก และใส่อีกหลาย ๆ จุดในเนื้อหาที่เหลือ นี่ก็เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายในการเพิ่มยอดผู้เข้าถึงเช่นกัน

  1. นำคอนเทนต์ที่คุณมีอยู่แล้วเอามาใช้ซ้ำ ทำออกมาเป็นรูปแบบอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

การทำ Press Release และการมีชื่อแบรนด์ปรากฏในในสื่อที่มีชื่อเสียงไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่จะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื้อหาหรือวัตถุดิบอื่น ๆ ที่นำมาทำสื่อประชาสัมพันธ์สามารถนำไปใช้เพื่อสร้างคอนเทนต์เพื่อการตลาดใหม่ ๆ ได้ เช่น อินโฟกราฟิก, อีบุ๊ค, พอดแคสต์ White Paper หรือวิดีโอ เป็นต้น คุณสามารถเอาไปสร้างสรรค์งานใหม่โดยการปรับเปลี่ยนจุดประสงค์แล้วนำมาใช้อีกครั้ง หรือเผยแพร่ซ้ำ และยังสามารถใช้ได้ในงานประชาสัมพันธ์และงานอื่น ๆ อีกด้วย

เนื้อหาที่เคยถูกนำมาใช้ในงานประชาสัมพันธ์สามารถเอาไปใช้ในจุดประสงค์อื่นได้โดยการอัปเดตข้อมูลทางสถิติ, เปลี่ยนหัวข้อของเนื้อหา, เพิ่มรูปภาพอินโฟกราฟิกเข้าไปในชิ้นงานเดิม หรือแม้แต่การเขียนใหม่จากมุมมองที่แตกต่างออกไป

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวที่น่าสนใจในเรื่องของการทำ Inbound Marketing และ Digital PR ที่เรามานำเสนอให้ได้ติดตามกัน  เรายังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ Inbound Marketing และ Digital PR ที่จะมานำเสนอกันอีกในตอนต่อไป อย่าพลาด ติดตามกัน